ในตอนพิเศษ ได้เล่าถึงรูปแบบของการได้มาซึ่ง Timetable ว่ามาจาก Headway Calculation ที่มีหลายประเภทตามที่เงื่อนไขที่พิจารณา จึงทำให้ ตารางการเดินรถ วางแผนการเดินรถออกมาอย่างสมบูรณ์
เมื่อสามารถสร้าง Timetable ออกมาได้แล้ว ตัว Timetable นี่จะเป็นเพียงตัวแม่แบบสำหรับรถไฟ หรือเป็นแม่พิมพ์ในกรณีที่ไม่มีเหตุการณ์ใดๆ เช่น เกิดการดีเลย์จากการเกิดภัยธรรมชาติ หรือจากการชำรุดของตัวรถไฟเองเป็นต้น เพราะสถานการณ์จริงมีสิ่งที่เราไม่คาดคิดอีกมากมายทีเดียวครับ
ในตอนนี้ ตอนที่ 3 จะพูดถึงการนำแม่แบบ Timetable ของรถไฟไปใช้ต่อในการวางแผนคนขับรถและการวางแผนการซ่อมบำรุงครับ
อย่างที่กล่าวไว้ใน ตอนที่ 1 คนขับรถมีความซับซ้อนกว่ารถหรือเครื่องจักรมาก เพราะว่าเป็นมนุษย์ มนุษย์จะมีความต้องการต่างๆเช่น ต้องการพัก ต้องการลาหยุด ที่เป็นสิทธิพื้นฐานที่พึงกระทำได้ การวางแผนงานให้คนขับรถจึงซับซ้อนมาก
เริ่มจาก รวบรวมข้อมูล เงื่อนไขของการขับรถ ของแต่ละประเทศ แล้วแจกแจงรายการออกมา โดยหลักๆแล้วจะรวมเงื่อนไขต่อไปนี้ไว้ ได้แก่
- เวลาที่สามารถขับรถต่อเนื่องได้อย่างมากที่สุด
- จำนวนครั้งที่ต้องพักผ่อนต่อวันและระยะเวลาที่จำเป็นต่อครั้ง
- การแบ่งชนิดของกะ
- สถานที่ที่ใช้เป็นจุดตอกบัตรเข้า และออกงาน
- มีรูปแบบการขออาศัยติดรถกลับมาที่บริเวณตอกบัตรหรือไม่
- มีรูปแบบการเดินรถแบบแบ่งขบวนหรือไม่
โดยระบบการสร้างงานให้คนขับรถ จะอิงข้อมูลมาจากแม่แบบ Timetable และ เงื่อนไข แล้วคำนวนหาจำนวนคนขับรถอย่างน้อยที่สุดที่จำเป็นต่อตารางการเดินรถดังกล่าวออกมาให้รวมถึงรูปแบบชิ้นงานก็จะถูกประมวลผลออกมาเช่นกัน ผู้ให้บริการสามารถนำผลลัพธืนี้มาปรับใช้กับการทำงานจริงได้ สามารถสั่งปริ้นชิ้นงานออกมาแล้วแจกจ่ายให้หัวหน้าคนขับรถไปใช้แบ่งคนขับรถในลำดับถัดไปได้ ที่จริงแล้วยังมีอีกฟังก์ชั่นย่อยหนึ่งชื่อว่า Crew Rostering Function ตัวนี้จะทำหน้าที่ ระบุถึงคนขับรถจริงๆว่าจะแบ่งงานให้คนไหนในการขับรถ
บางวิธีที่ผู้วางแผนงานให้คนขับรถนิยมทำคือ การสร้าง Base Duty ออกมาก่อน โดยเป็นหน้าที่หรือเป็นชิ้นงานพื้นฐานที่หน้าตาเหมือนกัน
จากนั้นนำเอาชิ้นงานนี้ไปประกอบกับชิ้นงานพื้นฐานอื่นๆเป็น Duty ของบคนขับรถในหนึ่งวันได้
ส่วนงานนี้เองในบริษัทเดินรถก็จะเป็นฝ่ายหนึ่งต่างหากออกมาเลย แต่จะรับข้อมูลสารตั้งต้นจาก แม่แบบ Timetable ทุกส่วนงานจำเป็นต้องประสานงานกัน
ในทางขนานกัน สามารถนำ Timetable มาทำRostering สำหรับรถไฟต่อได้ เราสร้างตารางการเดินรถของทั้งช่วงเวลาที่เราสนใจ จากนั้นแบ่งลง ปฏิทิน เพื่อขั้นตอนการทำ Rostering ส่วนใหญ่ขั้นตอนนี้จะเป็นหน้าที่ของหน่วยงานซ่อมบำรุง จะมีหน้าที่สร้างแผนการนำรถมาซ่อมบำรุง และแบ่งรถที่มีในสังกัดไปใช้งานในแต่ละ Block จาก Timetable ทั้ง 2 งานนี้มีความสัมพันธ์กันเพราะว่า งานซ่อมบำรุงมีผลต่อการนำรถไปใช้งาน เพราะถ้าถูกเรียกซ่อมก็คือรถไฟต้องกลับเช้าอู่ก่อน ก็จะเหมือนรถไฟหายจากระบบไป ระบบในที่นี้คือ การเดินรถในเส้นทางรับส่งผู้โดยสาร ทีมงานซ่อมบำรุงจำเป็นต้องมีแผนงานซ่อมบำรุงและตารางเรียกรถ ในแต่ละอู่ที่รองรับรถไฟแต่ละคลาสหรือแต่ละยี่ห้อก็จะมีแผนการซ่อมบำรุงไม่เหมือนกัน อุปกรณ์การซ่อมต่างกัน คนงานหรือช่างชำนาญการก็จะมีแตกต่างกันไป ในสายรถไฟที่ยาวอย่างสายสีเขียวของบีทีเอส ก็มีอู่ถึง 3 อู่ ซึ่งในการจัดการบริหารซ่อมบำรุงนั้น ควรมีศูนย์กลางเดียวกัน เพราะมีการใช้เส้นทางเดียวกันในการเดินรถ และสิ่งที่จำเป็นอย่างขาดไม่ได้ของการจัดการแบ่งรถนั้นคือ จุดเริ่มต้นและจุดสิ้นสุดใดๆของBlock ในแต่ละสถานีต้องมี จำนวนเท่ากัน ใน Timetable เพราะว่า รถจะเริ่มเดินรถออกไปได้ก็มาจากจุดสิ้นสุดในวันก่อนหน้าที่ต้องกัน การทำเช่นนี้จะทำให้สามารถติดตามระยะทาวที่รถไฟเดินทางไปได้อย่างถูกต้อง และการเรียกซ่อมบำรุงก็จะทำได้อย่างแม่นยำมากยิ่งขึ้น
และหลังจากการแบ่งรถไฟเรียบร้อยเพื่อใช้ในระบบเดินรถแล้ว ก็จำเป็นต้องทำส่วนการแบ่งรถในอู่ด้วยเช่นกัน กล่าวคือ รถไฟที่เข้าอู่คือ กลับไปจอดพัก หรือ เข้าไปซ่อมบำรุง เพื่อไม่ให้ขวางทางที่เส้นทางบนราง การเดินรถเข้าอู่มีความสำคัญไม่แพ้กับเส้นทางพาณิชย์ เพราะส่วนใหญ่จะมีทางเข้าออกลู่เข้ามาหากันเป็นเส้นแคบๆ ทำให้เกิดข้อขัดแย้งได้ง่ายหากมีหลายๆรถไฟต้องเข้ามาพร้อมๆกัน หน้าที่ของฝ่ายซ่อมบำรุงคือ บริหารจัดการการนำรถเข้าออกอู่ให้มีประสิทธิภาพที่สุด ฝ่ายซ่อมบำรุงต้องสร้างรูปแบบการเดินรถหรือ Shunting Route ของรถไฟจากปากทางไปปลายทาง และจากปลายทางออกมาปากทาง ตั้งระยะเวลาการเดินรถว่าใช้เวลาเท่าไร และจำลองการวิ่งในระบบ เพื่อไม่ให้รถไฟชนกัน มีการจอดตามลำดับอย่างถูกต้อง ดังนั้นการเชื่อมต่อระหว่าง Timetable ในระบบรับส่งผู้โดยสาร และในอู่จึงมีความสำคัญ ใน Timetable ก็จะแสดงหน้าตาของอู่ไว้ด้วยเช่นกัน