จดหมายการลงทุน Engineering Newsletter

เกือบ 1.5 ศตวรรษ โตชิบากับการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่

เกือบ 150 ปีแห่งการมีอยู่ของโตชิบา

โตชิบาถูกก่อตั้งขึ้นเมื่อ กรกฏาคม ปี 1875 โดยนักประดิษฐ์ ฮิซาชิเงะ ทานากะ มีโรงงานที่ชิมบาชิ โตเกียว ภายหลังมีการจัดตั้งเป็นบริษัทจดทะเบียนในปี 1890 โดยอิชิซุเกะ ฟุจิโอกะและ โซอิชิ มิโยชิ และมีการผลิตหลอดไฟกระเปาะแบบลวดสองชั้นเป็นครั้งแรกของโลกในเวลาถัดมา นับเป็นสิ่งประดิษฐ์ที่ถูกคิดค้นเป็นหนึ่งในหกการค้นพบที่ยิ่งใหญ่ในวงการหลอดไฟฟ้าในขณะนั้นเลยทีเดียว ในระยะแรกเนื่องจากเป็นโรงงานที่เน้นด้านอุปกรณ์ไฟฟ้า อิเล็คทรอนิกส์ โตชิบาหรือโตเกียวเดงกิในขณะนั้นก็ได้มีการผลิตเครื่องกำเนิดไฟ มอเตอร์นำไฟฟ้า หลอดรังสีเอ็กซ์ ท่อส่งสัญญาณคลื่นวิทยุสื่อสาร รถไฟฟ้าขนาด 40 ตันขับเคลื่อนด้วยไฟฟ้ากระแสตรง ตัวรับคลื่นวิทยุ เครื่องซักผ้าไฟฟ้า ตู้เย็นไฟฟ้า เครื่องดูดฝุ่น เครื่องกระจายสัญญาณสื่อสาร หม้อหุงข้าว เตาอบไมโครเวฟ ทีวีสี เครื่องจ่ายไฟฟ้าสำรอง คอมพิวเตอร์ หน่วยความจำ จอLCD TV แบตเตอรี่สำรองพลังงานชาร์จไฟฟ้าไว ทั้งหมดนี้คือสิ่งประดิษฐ์ที่มาช่วยอำนวยความสะดวกในชีวิตประจำวันของพวกเรา ที่โตชิบาผลิตออกมาสู่ท้องตลาดตั้งแต่ราวปี 1894 จนถึงปัจจุบัน บางสิ่งก็เป็นสิ่งที่คิดค้นเจ้าแรกของโลก หรือเจ้าแรกในญี่ปุ่น ท่านผู้อ่านหากสนใจและมีโอกาส แนะนำให้ไปชมพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์โตชิบา ที่เมืองคาวาซากิครับ สามารถชมประวัติได้อย่างสนุกสนานไปกับการทดลองกิจกรรมมากมายครับ

ดูเผินๆ ก็น่าจะเป็นบริษัทที่มีประวัติยาวนาน

มีการคิดค้นพัฒนาสิ่งประดิษฐ์อยู่ต่อเนื่อง

อุปสรรคอะไรมากไม่น่าจะมีแต่ทว่า…

มีทั้งปัจจัยภายใน และปัจจัยภายนอกที่มากระทบ และส่งผลอย่างมากต่อโตชิบาครับ หลักๆแล้วผลกระทบมาจากปัจจัยภายนอกและส่งผลต่อมาถึงปัจจัยภายในครับ กล่าวคือ ภัยธรรมชาติ และสงครามโลก เป็นที่ทราบกันดีว่าญี่ปุ่นตั้งอยู่บนวงแหวนแห่งไฟ ที่มีอัตราการเกิดแผ่นดินไหวและสึนามิสูงมาก แผ่นดินไหว ขนาด5.0 – 5.9 เกิด 140 ครั้ง ขนาด 6.0 – 6.9 เกิด 17 ครั้งและขนาด 7.0 – 7.9 เกิด 3 ครั้ง ต่อปี ในระหว่างทางการเติบโตของบริษัทโตชิบาเอง ก็เจอะเจอกับแผ่นดินไหวที่ส่งผลอย่างมากต่อธุรกิจ อาทิ ปี 1923 แผ่นดินไหวใหญ่ที่คันโตทำให้ผู้คนเสียชีวิตมากกว่าแสนราย และสูญเสียพนักงานไปหลายราย อีกทั้งในปี 2011 เกิดแผ่นดินไหวที่ตอนเหนือของประเทศส่งผลต่อการลงทุนในอุตสาหกรรม nuclear การตัดสินใจลงทุนในธุรกิจพลังงานในกลุ่มนิวเคลียร์จึงส่งผลให้โตชิบาขาดทุนมหาศาล เกือบ 320,000 ล้านบาท สงครามโลกก็เช่นเดียวกันครับ ทำลายอาคารโครงสร้าง และผู้คนล้มตายไปจำนวนมาก ปัจจัยภายนอกอีกตัวหนึ่งคือ คู่แข่งทางการค้า ในช่วง ต้นปี 2000 โตชิบาเจอคู่แข่งจากจีนเข้ามาแย่งลูกค้าไปมาก เพราะจีนจะเน้นสู้ด้วยราคาที่ต่ำกว่า เช่นเครื่องใช้ไฟฟ้า Haier, Xiaomi, คอมพิวเตอร์ Lenovo, โทรทัศน์ TCL, Hisense เป็นต้น พวกนี้เข้ามาตีตลาดที่ญี่ปุ่นเคยครองอยู่นานไปได้

ทำให้แม้โตชิบาหรือญี่ปุ่นนั้นจะมีนวัตกรรมที่ทันสมัย แต่ไม่ตอบโจทย์สภาพเศรษฐกิจในขณะนั้นรวมถึงปัจจุบันที่ไม่ดีเท่าแต่ก่อน จึงทำให้จีนแม้คุณภาพสู้ไม่ได้ แต่ราคาดีกว่า ชนะญี่ปุ่นไปอย่างง่ายดาย โตชิบาเกิดสภาวะขาดทุนสะสมต่อเนื่องนับตั้งแต่ ต้นศตวรรษที่ 20 ไม่เพียงเท่านั้น ปัจจัยภายในที่ไม่ควรเกิดขึ้นอย่างยิ่งคือการปิดบังและตกแต่งบัญชีที่ถูกตรวจสอบได้ในปี 2015 ซึ่งทำมาสะสมตั้งแต่ 2008 โตชิบาระบุกำไรเกินจริงไปกว่า 42,000 ล้านบาท จึงถูกถอนชื่ออากจากตลาดหลักทรัพย์โตเกียว TSE (Tokyo Stock Exchange) ในเวลาถัดมาเนื่องจากมีการประเมินจับตาดูตลอดเวลาเกี่ยวกับ สภาพคล่องจึงได้รับการนำเอากลับคืนสู่ตลาดหลักทรัพย์อีกครั้ง อีกหนึ่งตัวอย่างของปัจจัยภายในคือ มีการเปิดเผยความลับของดีลการซื้อกิจการโตชิบาจากบริษัทซีวีซี แคปิตอล พาร์ตเนอร์ส กองทุนหุ้นนอกตลาดในอังกฤษ ซึ่ง โนบุอากิ คุรุมาทานิ ซีอีโอของโตชิบาในขณะนั้น เคยเป็นผู้บริหารบริษัทซีวีซีในญี่ปุ่นระหว่างปี 2017-2018 ก่อนที่จะรับตำแหน่งที่โตชิบา สร้างความไม่พอใจอย่างมากต่อนักลงทุน ทำให้คุรุมาทานิต้องลาออกในที่สุด

ทั้งปัจจัยภายในและภายนอกล้วนส่งผลต่อความเป็นไปของทุกๆองค์กรอยู่แล้ว แต่โตชิบาโชคร้ายที่ผู้บริหารในขณะนั้นเลือกทางเดินที่ผิดพลาดไปอย่างใหญ่หลวง จึงส่งผลต่อโตชิบาในปัจจุบัน ในปี 2023 ที่จะต้องขายกิจการให้กับ พาร์ทเนอร์อุตสาหกรรมญี่ปุ่น (JIP: Japan Industry Partners)ในที่สุดครับ การเข้าซื้อกิจการครั้งนี้มีมูลค่าราว 2 ล้านล้านเยน (หรือราว 521,400 ล้านบาท) คิดเป็นมูลค่าการเข้าซื้อที่ 4,620 เยนต่อหุ้น (หรือราว 1,200 บาท)

หลังจากวิกฤตด้านบัญชีปี 2015 โตชิบาก็ทยอยขายกิจการหรือหุ้นบางส่วนออกไป เช่น ธุรกิจลิฟท์ ขายหุ้น 4.6% มูลค่า 33,500 ล้านบาท

ธุรกิจ ภาพเซนเซอร์ ขายให้Sony 5,500 ล้านบาท ต่อมาขายธุรกิจการแพทย์ให้Canon Medical 209,000 ล้านบาทในปี 2016 ขายหุ้นธุรกิจเครื่องใช้ไฟฟ้าให้จีน Midea 80% 16,000 ล้านบาท  ปี 2018 ขายหุ้นคอมพิวเตอร์ให้ Sharp 1,200 ล้านบาท และธุรกิจหลักคือชิปหน่วยความจำให้แก่ Bain Capital 630,000 ล้านบาท ปี 2022 ขายหุ้นธุรกิจแอร์ให้กับ Carrier 55% บริษัทญี่ปุ่นในอดีตจะมีความทะนงในตนสูงมาก คือ จะไม่มีการควบรวมกิจการ หรือขอความช่วยเหลือจากชาติอื่นๆมาผสมกันเพื่อต่อยอดธุรกิจ แต่จะทำด้วยตนเอง แตกต่างจากชาติจีนที่จะไหลไปตามกระแสสถานการณ์ ไปร่วมทุนกับแบรนด์ดังๆต่างชาติ เพราะคนท้องถิ่นก็จะคุ้นเคยกับยี่ห้อและเชื่อใจมากกว่า จะประหยัดค่าใช้จ่ายด้านการตลาดไปได้

รูปภาพ : สำนักงานของโตชิบาที่เมืองคาวาซากิ จังหวัดคานากาว่า ประเทศญี่ปุ่น

ปัจจุบันโตชิบาจึงเหลือเพียง ธุรกิจพลังงาน

ธุรกิจโครงสร้างพื้นฐาน ธุรกิจbuilding

ธุรกิจรีเทลและการพิมพ์

ธุรกิจอุปกรณ์หน่วยเก็บความจำ

ธุรกิจการสื่อสารอุตสาหกรรม และธุรกิจอื่นๆ

ธุรกิจพลังงาน มีพลังงานน้ำ แสงอาทิตย์ พิภพ นิวเคลียร์ คิดเป็น 15% ธุรกิจโครงสร้างพื้นฐานได้แก่ ระบบน้ำบำบัดน้ำเสีย ถนน การกระจายเสียง วิทยุ เครื่องปรับอากาศ ไฟฟ้า การขนส่ง การเดินทางคิดเป็น 20% ธุรกิจbuilding ได้แก่ลิฟท์ แสงสว่างคิดเป็น 17% ธุรกิจรีเทลและการพิมพ์ ได้แก่ ระบบการขาย เครื่องจักรเอนกประสงค์คิดเป็น 12% ธุรกิจหน่วยเก็บความจำและอุปกรณ์ ได้แก่ เครื่องมือส่งสัญญาณ สารกึ่งตัวนำ ระบบวงจรผสม เซนเซอร์คิดเป็น 22%

ธุรกิจการสื่อสารอุตสาหกรรม การให้บริการเทคโนโลยีข้อมูลคิดเป็น 7% ธุรกิจอื่นๆ ได้แก่ การจัดส่งสินค้า และต่างประเทศ เป็นต้นคิดเป็น 7%

ยอดขายในไตรมาสที่1-3ของปีงบประมาณ 2022 ของแต่ละธุรกิจเป็นดังนี้ครับ ธุรกิจพลังงาน 17%, ธุรกิจโครงสร้างพื้นฐาน 18%, ธุรกิจbuilding 14%, ธุรกิจรีเทล 15%, ธุรกิจหน่วยความจำอิเล็คทรอนิคส์ 24%, ธุรกิจการสื่อสารอุตสาหกรรมดิจิทัล 6% และธุรกิจอื่นๆ 6% จะเห็นว่าโตชิบายังโด่งดังในเรื่องของธุรกิจชิป หน่วยความจำอยู่ครับ แม้ว่าจะเหลือการถือหุ้นเพียง 40% โดยยอดขายสุทธิในไตรมาส1-3 ปีงบประมาณ 2022 ของทุกๆธุรกิจ อยู่ที่ 2.5 ล้านล้านเยน หรือประมาณเท่ากับ ทรัพย์สินที่เจ้าสัวธนินท์ถือครองล่าสุดหลังจากนิตยสารฟอร์บได้ประเมินมาในปีนี้ครับ

มาติดตามกันต่อครับว่าหลังจากปิดดีลการขายนี้ให้แก่JIP จะเป็นอย่างไรต่อไปครับ

____________________________________________________________________________________________

โดย จิรภัทร ภักดิ์แจ่มใส

____________________________________________________________________________________________

Source : History | Corporate Information | Toshiba (global.toshiba), Integrated Reports / Annual Reports | Investor Relations | Toshiba (global.toshiba), Fate Of Management At Japan’s Toshiba A Cause Of Friction For Bidders And Banks, Sources Say (ibtimes.com)

Share the Post:
Share on facebook
Share on twitter
Share on linkedin

Related Posts

ลงทุนอสังหาฯในญี่ปุ่น การซื้อบ้าน เช่าบ้าน

แน่นอนว่าคนเรามีบ้านเป็นปัจจัยที่สำคัญ เพราะเป็นที่อยู่อาศัย บ้านในที่นี้มีหลากหลายรูปแบบด้วยกัน อาทิ บ้านเดี่ยว บ้านทาวน์โฮม ตึกแถว คอนโด แมนชั่น นานาชนิดเลยครับ บางคนอาศัยถาวรก็มี บางคนมีชนิดที่อาศัยชั่วคราวก็มีตามสภาพสถานะชีวิต ณ ขณะนั้น และตามการพัฒนาการของชีวิตแล้วเมื่อเรียนหนังสือจบ เริ่มทำงาน แต่งงาน มีลูก ก็อยากจะมีบ้านเป็นของตนเอง อาจจะเป็นการเช่าหรือซื้อ ซึ่งในสภาพของสังคม กฏหมาย ภาษีที่ญี่ปุ่นนั้น ทำให้คนญี่ปุ่นส่วนใหญ่ไม่เลือกที่จะซื้อบ้านแต่เช่าเอา เพราะว่า…

Read More

เทปกาวนิตโตะต่อโลกต่อเรา

ในบทความนี้ผู้เขียนขอนำเสนอบริษัทเทปกาวนิตโตะครับ หากพูดถึงเทปกาว หลายท่านคงจะนึกไปในเรื่องของการแพคขนส่งพัสดุกันมากนะครับ แต่ในความเป็นจริงเทปกาวไม่ได้ทำหน้าที่ยึดเกาะวัสดุเพียงอย่างเดียวครับ หน้าที่อื่นๆที่ใช้จริงในโลกปัจจุบันมีมากขึ้น ได้แก่ เทปที่ใช้ในทางการแพทย์ ปิดบาดแผล ส่งยาจากเทปเข้าสู่ร่างกายทางผิวหนัง ลำเลียงยาไปยังจุดที่ต้องการ เทปที่ใช้ในทางอิเล็คทรอนิคส์ มือถือ รถยนต์ เซนเซอร์ เทปบนแผ่นวงจรไฟฟ้านำไฟฟ้าได้ ยืดหยุ่นได้ดี ถ่ายโอนคงามร้อนได้ดี เป็นต้น  ยังมีอีกในหลายๆวงการ อาทิ วงการศิลปะ วงการอาหาร กีฬา ด้วยนะครับ เท่ากับว่าเจ้าเทปนี้อยู่คู่กับคนเรามาตลอดเลยครับ

Read More