จดหมายการลงทุน Engineering Newsletter

เศรษฐกิจญี่ปุ่นที่สะท้อนจากรายได้ซาลารี่แมน

การพิจารณาความสำเร็จของแต่ละบุคคลย่อมต่างกัน ของบางคนอาจจะมองที่ตัวเงินเก็บ รายได้ต่อปี บางคนอาจมองที่สภาพการใช้ชีวิตในทุกๆวัน บางคนดูที่ความสุข พอมีพอกินไปวันๆ ผู้เขียนขอยกตัวอย่างมนุษย์เงินเดือนในญี่ปุ่นหรือที่เรียกกันว่า ซาลารี่แมน ครับ ว่าเขาต้องเจออะไรและที่ญี่ปุ่นมีการจัดการการเงินอย่างไรที่ดูจะเหมือนและแตกต่างจากบ้านเราพอสมควรครับ 

ทั้งไทยและญี่ปุ่น การจะบรรลุเป้าหมายให้มีรายได้ต่อปีมากๆเช่นประมาณ 10 ล้านเยนต่อปี หรือราว 3 ล้านบาทต่อปี สำหรับผู้ที่ทำงานมาระยะนึง แต่ยังไม่ได้นานเกิน 10 ปี โดยผ่านการเป็นมนุษย์เงินเดือนนั้นแทบจะเป็นไปไม่ได้เลยครับ 


เรามาเริ่มกันที่ตัวเลขสถิติก่อนครับ



จากการเก็บข้อมูลทางสถิติของกระทรวงสาธารณสุข แรงงานและสวัสดิการของญี่ปุ่น ประจำปี 2018 ค่าเฉลี่ยเงินเดือนเด็กจบใหม่ปริญญาตรี อยู่ที่ 206,700 เยน ซึ่งหากเทียบกับที่ไทยก็ดูเหมือนจะมากกว่าเด็กจบใหม่ที่ไทยนะครับ แต่ก็มีค่าใช้จ่ายภาษี ค่าครองชีพต่างกันจึงไม่สามารถสรุปว่ามากน้อยกว่ากันอย่างแท้จริงได้ เมื่อดูต่อมาที่รายได้เฉลี่ยต่อปีในปี 2018 มีรายได้ต่อปีอยู่ที่ 4.41 ล้านเยนต่อปีสำหรับมนุษย์เงินเดือน ที่รวมเอาโบนัสและค่าสวัสดิการอื่นๆด้วย ที่ผ่านมาเป็นสถิติในแนวโน้มที่เพิ่มขึ้น แต่ว่าด้วยจำนวนประชากรที่ลดลงในทางสวนกัน จะส่งผลให้ ค่าเฉลี่ยเงินเดือนที่จะลดลงไปอีกครับ 

มนุษย์เงินเดือนญี่ปุ่น ในปี 2018 มี 50.26 ล้านคน พบว่าโดยเฉลี่ย ผู้ที่มีรายได้มากกว่า 10 ล้านเยนต่อปีขึ้นไปนั้น มีเพียง 4.7% ซึ่งโดยส่วนใหญ่มนุษย์เงินเดือนจะมีรายได้ประมาณ 2-5ล้านเยนต่อปี คิดเป็น 47.3% เกือบครึ่งนึงเลยทีเดียวครับ อาจจะสะท้อนได้ว่ามีจำนวนเด็กจบใหม่มาเป็นมนุษย์เงินเดือนมากกว่า จำนวนผู้ที่มีประสบการณ์สูงและมีตำแหน่งสูงๆมาก ซึ่งก็เป็นเรื่องปกติที่หัวหน้าก็มีจำนวนน้อยกว่าลูกน้อง และเป็นจำนวนคนที่น้อยในสังคมครับ 



การจะก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งสูงๆนั้น ประกอบด้วยสิ่งต่อไปนี้ที่จะมาเกื้อหนุนครับ 



เนื่องจากสังคมญี่ปุ่นโดยมากเป็นแบบการให้ความสำคัญกับลำดับอาวุโสครับ ดังนั้น คนอายุ 20-30 เป็นไปได้น้อยมากที่จะมีรายได้โดดมาเป็น 10 ล้านเยนต่อปี เว้นแต่จะเป็นการทำงานที่มีเนื้อหางานละเอียด เช่นบริษัททุนข้ามชาติ การค้าการลงทุน ธนาคารยักษ์ใหญ่ เป็นต้น ดังนั้นกลุ่มคนอายุ 40 ขึ้นไปจากสถิติกระทรางสาธารณสุข แรงงาน ญี่ปุ่นจึงพบว่า คนเหล่านี้จะมีสัดส่วนรายได้ต่อปี 10 ล้านเยนขึ้นไปมากกว่า


ตำแหน่งที่มาพร้อมอายุงาน 



สืบเนื่องจากอายุงานถ้าอายุงานน้อย และอายุน้อยอีกก็ยากที่จะได้รับเงินรายได้สูง แต่หากสามารถเข้าสู่ตำแหน่งที่เป็นการบริหารจัดการแล้ว รายได้ต่อปีก็จะเพิ่มอย่างเห็นได้ชัดเลยครับ

หรือหากได้อยู่ในตำแหน่งที่มีผลโดยตรงต่อบริษัท ต่อการอยู่รอดของบริษัทนอกเหนือจากการบริหาร ซึ่งแตกต่างกันไปในแต่ละองค์กร อาทิ ตำแหน่งดูแล ประเมินผลซอฟแวร์ที่ต้องการคนที่มีความชำนาญการและสามารถดูแลระบบได้ตลอด 24 ชั่วโมง แม้จะไม่ใช่ตำแหน่งใหญ่แต่ขาดไม่ได้ จะส่งผลต่อบริษัทโดยรวมทันที ผู้นั้นก็จะมีโอกาสที่จะได้รับรายได้ต่อปีสูงครับ


เงินเดือนญี่ปุ่น จะไม่มีแนวโน้มขึ้นเลยหรือ ?


เป็นคำถามเสียงดังฟังชัดจากการเรียกร้องของสมาพันธ์สหภาพแรงงานญี่ปุ่น หรือเร็งโงะตลอดมา เพราะนับตั้งแต่ 1997 รายได้เฉลี่ยต่อปีในญี่ปุ่นอยู่ที่ 38,395 เหรียญดอลล่าสหรัฐและคงที่มาโดยตลอดจนในปี 2020 ก็ยังมีค่าเฉลี่ยรายได้ต่อปีที่ 38,515 เหรียญดอลล่าสหรัฐ เทียบกับประเทศเกาหลีใต้ที่มี ค่าเฉลี่ยรายได้ต่อปี 21,830 เหรียญดอลล่าสหรัฐในปี 1990 แต่แซงญี่ปุ่นในปี 2015 และในปี 2020 มีค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 41,960  เหรียญดอลล่าสหรัฐเลยทีเดียวครับ สืบเนื่องมาจากในปี 1990s มีภาวะฟองสบู่สินทรัพย์และมีวิกฤติเศรษฐกิจต้มยำกุ้งจากอาเซียนกระทบในปี 1997 อีกด้วย ส่งผลให้ญี่ปุ่นตั้งแต่นั้นมาเผชิญกับปัญหาเศรษฐกิจถดถอยอย่างช้าๆ

ฮิยาชิ ยามาดะ รองประธานของ Japan Research Institute ให้ทัศนะว่า แนวโน้มเงินเดือนที่ไม่เพิ่มขึ้นมาเนิ่นนานนั้นคาดว่ามีส่วนเกี่ยวข้องมาจากเรื่องของเงินฝืด

ตามปกติหากราคาต้นทุนสินค้าเพิ่มขึ้น ก็จะสะท้อนมาที่ราคาขายของสินค้า และส่งผลให้บริษัทผลิตสินค้ามีรายรับมากขึ้น และในที่สุดก็สามารถขึ้นเงินเดือนให้แก่ลูกจ้างได้


แต่ทว่า


ในบริษัทญี่ปุ่นมีความลังเลใจที่จะผลักภาระด้านราคาสินค้าที่ปรับตัวสูงขึ้นให้แก่ผู้บริโภคที่เงินเดือนยังไม่ขึ้น จึงเกิดกลายเป็น เกลียวกลมแห่งความอุบาต กล่าวโดยยามาดะ สิ่งนี้วนเวียนมานับตั้งแต่ปี 1997

นอกเหนือจากเงินฝืดแล้ว สิ่งที่โยงไปสู่การเติบโตช้าของอัตราเงินเดือนในญี่ปุ่นคือ


จำนวนพนักงานที่ไม่ใช่พนักงานประจำมีมากขึ้น



เพราะพนักงานประจำจะได้รับการปกป้องสัญญาจ้างงานจากกฏหมายแรงงาน ในขณะที่พนักงานพาร์ทไทม์ไม่มี ซึ่งนายจ้างสามารถจ่ายเงินเดือนน้อยและสามารถ Lay Off ได้หากเกิดวิกฤติใดๆ ในปี1990s มีสัดส่วนพนักงานพาร์ทไทม์ 20% แต่ในปี 2021 กลับมีมากถึง 36.7% ส่วนนี้เองก็ทำให้อัตราการโตของค่าเฉลี่ยรายได้ต่อปีของญี่ปุ่นลดลงโดยภาพรวม


อีกทั้งตามธรรมเนียมประเพณี


คนญี่ปุ่นส่วนใหญ่ยังคงนิยมทำงานอยู่ที่เดิมไม่เปลี่ยนไปไหนเป็นเวลานาน ทำให้สหภาพแรงงานหันมาเน้นการปกป้องการจ้างงานมากกว่าการขึ้นเงินเดือน

และหากขึ้นเงินเดือนไปแล้วจะทำให้การลดเงินเดือนทำได้ยากมาก

ปัจจัยข้างต้นจึงส่งผลต่อการเติบโตของค่าเฉลี่ยเงินรายได้ต่อปีของญี่ปุ่นที่ช้าและค่อนข้างคงที่


การเพิ่มเงินเดือนกำลังจะเกิดขึ้น หรือเกิดขึ้นแล้วนะ?

รูปภาพ : ชื่อสมาพันธ์สหภาพแรงงานญี่ปุ่น โดยมีสโลแกนว่า สภาพสังคมที่ปลอดภัยมีแกนกลางจากการทำงาน คือเน้นให้การทำงานมีความสำคัญแล้วสุดท้ายบ้านเมืองก็จะสงบร่มเย็น


สมาพันธ์สหภาพแรงงานเปิดเผยว่าในการเจรจาค่าจ้างฤดูใบไม้ผลิประจำปี หรือ ชุนโต ภาคธุรกิจยินยอมปรับค่าจ้างเฉลี่ย 3.8% ในปีงบประมาณปี 2023 นี้ นับเป็นการเพิ่มค่าจ้างค่าแรงมากกว่า 3% ครั้งแรกตั้งแต่ปี 1994 ข้อมูลจากผลสำรวจจากสหภาพแรงงาน 805 แห่งพบว่าอัตราค่าจ้างเพิ่มขึ้นราว11,844 เยนต่อเดือน ยกตัวอย่าง “นิสสัน มอเตอร์”จะเพิ่มเงินเดือนเฉลี่ย 12,000 เยน  “ฮิตาชิ”7,000 เยน/เดือน ส่วน “เจแปนแอร์ไลน์” เพิ่มค่าจ้าง 7,000 เยน/เดือน “ฮอนด้า มอเตอร์” ประกาศปรับขึ้นค่าจ้างเฉลี่ย 5% หรือราว 12,500 เยน/เดือน

แต่ทั้งนี้ต้องมีการเจรจากับทางผู้ประกอบการขนาดกลางและรายเล็กอีกด้วย กำหนดการคือ เดือนเมษาถึง มิถุนานี้ เพราะถือเป็นกลุ่มผู้ประกอบการที่มีสัดส่วนถึง 70%

การปรับเงินเดือนขึ้นนั้นในท้ายที่สุด เกิดจากสภาพเงินเยนที่อ่อนค่าลง เงินเฟ้อจากโลกภายนอก ทั้งหมดนี้ส่งผลให้ญี่ปุ่นเองที่ติดชงักอยู่ที่สภาวะเงินฝืด เงินเดือนต่ำ จึงได้โอกาสที่จะต้องปรับตามสภาพไปด้วย เพื่อไม่ให้ประชาชนเดือนร้อนจากค่าครองชีพสูง


อีกหนึ่งช่องรายได้ของมนุษย์เงินเดือนญี่ปุ่นคือ 


การทำโอทีหรือการทำงานล่วงเวลาครับ เป็นที่ทราบกันดีว่าญี่ปุ่นมีระบบการจ่ายเงินค่าล่วงเวลาครับ มีหลากหลายแบบด้วยกัน เช่น กำหนดตายตัวต่อเดือน ยกตัวอย่าง เดือนละ 20 ชั่วโมง โดยหากทำไม่ถึง20 ชั่วโมงก็จะได้รับส่วนนี้ไป หรือในทางตรงกันข้ามหาก เกินไปจากนี้ ก็จะเป็น เซอร์วิสโอทีครับ

หรืออีกแบบนึงคือ จ่ายตามจริง ซึ่งก็จะมีข้อกำหนดแตกต่างกันไปในแต่ละระเบียบบริษัท เช่น เดือนนึงห้ามเกิน 45 ชั่วโมงเป็นต้นครับ 


และเร็วๆนี้เดือนเมษายนปี 2023 เป็นต้นไป


ทางรัฐบาลญี่ปุ่นได้ออกกฏหมายใหม่บังคับใช้ให้ธุรกิจขนาดกลางและรายย่อยเพิ่มอัตราให้ค่าตอบแทนการทำงานล่วงเวลาเป็น 25%, 35% และ 50% ตามชนิดของการทำงานล่วงเวลา กล่าวคือ 

หากทำงานล่วงเวลาต่อเดือนเกิน 45 ชั่วโมงแต่ไม่เกิน 60 ชั่วโมง จะได้ค่าตอบแทนเพิ่มขึ้น 25% และ

หากทำงานล่วงเวลาต่อเดือนเกิน 60 ชั่วโมง จะได้ค่าตอบแทนเพิ่มขึ้นเป็น 50% เป็นอย่างน้อย

สำหรับการทำงานวันหยุดจะได้ค่าตอบแทนเพิ่มขึ้นเป็น 35% และถ้าทำงานในรอบกะดึกจะได้ค่าตอบแทนเพิ่มเป็น 25% 

ยกตัวอย่าง นาย เอ ทำงานล่วงเวลาต่อเดือนอยู่ที่ 50 ชั่วโมง โดยก่อนเดือนเมษายน 2023 บริษัทนาย เอให้ค่าล่วงเวลาชั่วโมงละ 1000 เยน เมื่อนโยบายนี้ถูกบังคับใช้ นายเอจะได้ค่าล่วงเวลา จากเดิม 1000 x 50 = 50,000 เยน เป็น 1000 x 50 x 125%=62,500 เยนครับ ในส่วนนี้เองจะทำให้เป็นการกระตุ้นอุปสงค์ในประเทศมากยิ่งขึ้นครับ และจะลดการขาดจ่ายค่าตอบแทนล่วงเวลาสำหรับมนุษย์เงินเดือนที่ทำงานล่วงเวลาต่อเดือนจำนวนชั่วโมงมาก 

เพราะมีรายงานมาว่า มีการสำรวจในปี 2021 จากองค์กรขนาดกลางและเล็ก โดยทางการญี่ปุ่น พบว่าใน24,042 องค์กร มีถึง 37% ที่ มีพนักงานร้องเรียนมาว่าถูกบริษัทเอารัดเอาเปรียบจากการขาดจ่ายค่าล่วงเวลา ที่ตนนั้นทำไปมากกว่า 45 ชั่วโมงต่อเดือนครับ หนำซ้ำยังมีผู้ที่ทำงานมากกว่า 80 ชั่วโมงต่อเดือนปรากฏในรายงานด้วยครับ จึงเป็นสาเหตุให้เกิดการเสียชีวิตจากการตรากตรำทำงานหนักที่เรียกว่า Karoshi หรือการฆ่าตัวตายครับ หรือการเสียชีวิตจากการทำงานหนักร่างกายอ่อนแอ ถูกให้คำจำกัดความที่ การทำงานล่วงเวลาเกิน 80 ชั่วโมงต่อเดือน จะมีการแจ้งเตือนให้ระวัง


โดยในปี 2022 มีการกระโดดผันผวนของจำนวนคนเสียชีวิตจากการทำงาน จากแนวโน้มที่ค่อยๆลดลงมาเรื่อยๆตั้งแต่ปี 2013 จาก 2,323 คนมาเป็น 1,935 คนในปี 2021 และในปี2022 กระโดดเป็น 2,968 คน ด้วยสภาพเศรษฐกิจช่วงหลังโควิดที่ซบเซาต่อเนื่องและค่าครองชีพสูงขึ้นครับ  

อย่างไรก็ดีทางการญี่ปุ่นก็ไม่ได้นิ่งนอนใจครับ ก็มีการออกกฏหมายมาคุ้มครองบุคคลเหล่านี้อยู่ตลอดเช่น ตั้งแต่ปี 1987 ก็กำหนดให้ชั่วโมงทำงานในสัปดาห์หนึ่งมี 40 ชั่วโมง และนอกเหนือจากนั้นจะให้มองเป็นการทำงานล่วงเวลาทันที 

รูปภาพ : มนุษย์เงินเดือนนั่งพักบนพื้นที่สถานีรถไฟฟ้า


และมีกฏหมายแรงงานว่าในเดือนๆนึงสามารถทำงานล่วงเวลาได้เต็มที่ 45 ชั่วโมงแต่ถ้าหากมีเหตุด่วนจำเป็นจริงๆ จะให้ได้มากที่สุดแล้วคือ 100 ชั่วโมงต่อเดือนสำหรับเดือนที่มีความเร่งด่วนจริงๆ และถ้ามองเป็นปี คือ 720 ชั่วโมงต่อปี 

โดยแล้วแต่องค์กรว่าจะมีนโยบายอย่างไรต่อไป เช่น หากทำงานเกิน 80 ชั่วโมงต่อเดือน จะมีการบังคับลาหยุด ในเดือนถัดไป 3 วัน และไม่สามารถทำล่วงเวลาในเดือนถัดไปเกิน 45 ชั่วโมงได้ เป็นต้น 

ถ้าผู้ที่เป็นนายจ้างละเมิดกฏหมายที่ว่าห้ามอนุญาตหรือปล่อยปละให้พนักงานทำงานล่วงเวลาเกินที่กำหนดและขาดจ่ายค่าตอบแทน จะมีโทษทั้งจำคุก 6 เดือน และหรือปรับไม่เกิน 300,000 เยน มีหลายเคสที่เกิดขึ้นมาครับ เช่นที่เป็นข่าวดังคือ ปี 2013 ผู้ประกาศข่าวสาววัย 31 ปีเสียชีวิตจากภาวะหัวใจไม่สามารถสูบฉีดเลือดไปเลี้ยงร่างกายได้ เนื่องจากทำงานหนักล่วงเวลา ถึง 159 ชั่วโมง และ 147 ชั่วโมงในเดือนก่อนหน้า และอีกเคสคือ พนักงานชายวัย 24 ปี กระโดดตึกฆ่าตัวตายในวันคริสมาสเนื่องจากทำงานล่วงเวลาจนไม่มีเวลาทำสิ่งอื่นๆที่หอพักของตนเองหลังจากทำงานเกินไป 105 ชั่วโมง

มนุษย์เงินเดือนเองก็อยู่ในสังคมเศรษฐกิจ ค่าครองชีพที่สูงขึ้นจากค่าต้นทุนสูงก็ย่อมส่งผลกับการดำเนินชีวิต การขึ้นเงินเดือนนั้นจำเป็นยิ่ง เพราะจะเป็นหนึ่งในกำลังใจและการเสริมกิจกรรมการใช้จ่ายในประเทศ เป็นการเพิ่มอุปสงค์ และที่สำคัญคือส่งผลต่อการเปลี่ยนสภาวะจากเงินฝืดเป็นเงินเฟ้ออ่อนๆครับทั้งหมดยังคงอยู่ในนโยบายของนายกคนปัจจุบันที่เร่งกระตุ้นเศรษฐกิจโดยการเพิ่มค่าแรงค่าจ้าง

เฝ้ามองไปอีกระยะครับว่าในเดือนมิถุนา การเจรจากับผู้ประกอบการขนาดกลางและเล็กให้เพิ่มอัตราจ้างจะเป็นผลหรือไม่ครับ
แม้จะถูกมองว่าไม่ได้ช่วยเรื่องภาระรายจ่ายมากแต่คาดว่าเป็นหนทางแรกๆที่ทำได้ตอนนี้ของญี่ปุ่นครับ

โดย จิรภัทร ภักดิ์แจ่มใส

ที่มีของข้อมูล และแหล่งอ้างอิง :

https://www.tofugu.com/japan/karoshi/,

https://www.jtuc-rengo.or.jp/, 4.5 Legislation on working hours, breaks and days off | Section 4. Human Resource Management – Setting Up Business – Investing in Japan – Japan External Trade Organization – JETRO, Overtime in Japan: How Bad Is It Really? [2022 Guide] | Japan Dev (japan-dev.com), Current State of Working Hours and Overwork in Japan: Part I: How Has It Changed Over the Years?, Japan Labor Issues Volume 3 Number 16 July, 2019 (jil.go.jp)

Share the Post:
Share on facebook
Share on twitter
Share on linkedin

Related Posts

ลงทุนอสังหาฯในญี่ปุ่น การซื้อบ้าน เช่าบ้าน

แน่นอนว่าคนเรามีบ้านเป็นปัจจัยที่สำคัญ เพราะเป็นที่อยู่อาศัย บ้านในที่นี้มีหลากหลายรูปแบบด้วยกัน อาทิ บ้านเดี่ยว บ้านทาวน์โฮม ตึกแถว คอนโด แมนชั่น นานาชนิดเลยครับ บางคนอาศัยถาวรก็มี บางคนมีชนิดที่อาศัยชั่วคราวก็มีตามสภาพสถานะชีวิต ณ ขณะนั้น และตามการพัฒนาการของชีวิตแล้วเมื่อเรียนหนังสือจบ เริ่มทำงาน แต่งงาน มีลูก ก็อยากจะมีบ้านเป็นของตนเอง อาจจะเป็นการเช่าหรือซื้อ ซึ่งในสภาพของสังคม กฏหมาย ภาษีที่ญี่ปุ่นนั้น ทำให้คนญี่ปุ่นส่วนใหญ่ไม่เลือกที่จะซื้อบ้านแต่เช่าเอา เพราะว่า…

Read More

เทปกาวนิตโตะต่อโลกต่อเรา

ในบทความนี้ผู้เขียนขอนำเสนอบริษัทเทปกาวนิตโตะครับ หากพูดถึงเทปกาว หลายท่านคงจะนึกไปในเรื่องของการแพคขนส่งพัสดุกันมากนะครับ แต่ในความเป็นจริงเทปกาวไม่ได้ทำหน้าที่ยึดเกาะวัสดุเพียงอย่างเดียวครับ หน้าที่อื่นๆที่ใช้จริงในโลกปัจจุบันมีมากขึ้น ได้แก่ เทปที่ใช้ในทางการแพทย์ ปิดบาดแผล ส่งยาจากเทปเข้าสู่ร่างกายทางผิวหนัง ลำเลียงยาไปยังจุดที่ต้องการ เทปที่ใช้ในทางอิเล็คทรอนิคส์ มือถือ รถยนต์ เซนเซอร์ เทปบนแผ่นวงจรไฟฟ้านำไฟฟ้าได้ ยืดหยุ่นได้ดี ถ่ายโอนคงามร้อนได้ดี เป็นต้น  ยังมีอีกในหลายๆวงการ อาทิ วงการศิลปะ วงการอาหาร กีฬา ด้วยนะครับ เท่ากับว่าเจ้าเทปนี้อยู่คู่กับคนเรามาตลอดเลยครับ

Read More